healthy@nasameng

วันพุธที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2554

แจ้งเตือนการป้องกันการระบาดโรคไข้เลือดออก

แจ้งเตือนการป้องกันการระบาดโรคไข้เลือดออก
การป้องกันโรคไข้เลือดออกล่วงหน้า    ซึ่งต้องดำเนินการก่อนโรคเกิด  หากเกิดการระบาดแล้วการ   ควบคุมจะทำได้ลำบาก  และสูญเสียงบประมาณในการดำเนินงานเพิ่มมากขึ้น  พื้นที่เป้าหมายของการป้องกันโรคล่วงหน้าคือ  หมู่บ้านและชุมชนทุกแห่งไม่มียกเว้น     เพราะในปัจจุบันโรคได้แพร่กระจายไปในพื้นที่เกือบทุกแห่งทั่วประเทศแล้ว การดำเนินงานตามมาตรการป้องกันโรคล่วงหน้า  ดังนี้
1.  ให้สุขศึกษาแก่ประชาชน     เป็นการให้ความรู้ในเรื่องสาเหตุและปัจจัยที่ก่อให้เกิดการป่วยเพื่อจะได้ป้องกันบุตรหลานของตนมิให้ป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกได้ โดยการจัดการบ้านเรือนของตนไม่ให้มีแหล่งเพาะพันธุ์ยุงและเป็นที่อยู่อาศัยของยุงลายรวมถึงวิธีการปฏิบัติเมื่อสงสัยว่าบุตรหลานจะป่วยเป็นโรคไข้เลือดออก    การให้สุขศึกษาทำได้หลายทาง    คือ    ทางสื่อมวลชน   เช่น  วิทยุ  โทรทัศน์  หนังสือพิมพ์  เสียงตามสายหรือหอกระจายข่าว    การแจกเอกสารสุขศึกษา   เช่น  แผ่นพับให้ความรู้    การให้สุขศึกษาแก่ประชาชนที่สถานบริการ    ขอความร่วมมือจากผู้นำท้องถิ่นและผู้นำทางศาสนาในท้องถิ่นเพื่อให้แนวปฏิบัติและสุขศึกษาจะได้ผลดี      หน่วยราชการในท้องที่หรือท้องถิ่น ช่วยเผยแพร่ความรู้เรื่องโรคไข้เลือดออกให้ประชาชนทราบต่อไป
2.  การกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย  หากบ้านหรือชุมชนใดไม่มีแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย     ชุมชนนั้นก็จะไม่มียุงลายที่จะนำเชื้อไวรัสไข้เลือดออกมาติดถึงคนได้   ดังนั้น   การกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายจึงเป็นการกำจัดต้นเหตุของการเกิดโรคไข้เลือดออกอย่างแท้จริง   โดยมีวิธีการดังนี้
2.1  วิธีทางกายภาพ     ได้แก่          การปิดภาชนะเก็บน้ำด้วยฝาปิดเพื่อป้องกันไม่ให้ยุงลายเข้าไปวางไข่ได้สำหรับภาชนะเก็บน้ำที่ยังไม่ต้องใช้น้ำอาจจะใช้ผ้ามุ้ง  ผ้ายางหรือพลาสติกปิดและมัดไว้  สำหรับภาชนะที่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์ควรจะคว่ำไว้มิให้รองรับน้ำหรือการเปลี่ยนน้ำภาชนะต่าง ๆ  ทุก  7  วัน        เพื่อจะไม่กลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย
2.2  วิธีทางชีวภาพ   คือ  การปล่อยปลากินลูกน้ำ  เช่น  ปลาหางนกยูง   ปลาสอด  ลงในภาชนะเก็บน้ำใช้ที่ปิดไม่ได้   การปล่อยปลากินลูกน้ำเป็นวิธีที่ง่ายประหยัดและปลอดภัย
2.3  วิธีทางเคมี   สารเคมีที่ใช้ฆ่าลูกน้ำยุงลายซึ่งองค์การอนามัยโลกแนะนำและรับรองความปลอดภัย    คือ  ทรายทีมีฟอส  ซึ่งสามารถฆ่าลูกน้ำยุงลายภายใน 2-3  ชั่วโมง  ยกเว้นระยะตัวโม่งและจะคงฤทธิ์ได้นานถึง  3  เดือน  แต่ควรใช้เฉพาะกับภาชนะเก็บน้ำที่ไม่สามารถปิดหรือใส่ปลากินลูกน้ำได้เพื่อเป็นการประหยัด
3.  การพ่นสารเคมีกำจัดยุงตัวเต็มวัย    เป็นวิธีควรคุมยุงลายที่ได้ผลดีแต่ให้ผลเพียงระยะสั้น  นอกจากนี้ยังมีข้อด้อย  คือ  ราคาแพง  ต้องให้เครื่องมือพ่นและควรปฏิบัติโดยผู้ที่มีความรู้  เพราะเคมีภัณฑ์อาจเป็นพิษต่อคนและสัตว์เลี้ยง   อาจทำให้เกิดการดื้อยา  ดังนั้นจึงควรใช้การพ่นเคมีภัณฑ์เฉพาะเมื่อจำเป็นจริงๆ  เท่านั้น

** งานป้องกันควบคุมโรคและระบาดวิทยา
รพ.สต.นาสะเม็ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น