healthy@nasameng

วันพฤหัสบดีที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2554

Context Based Learning

โครงการสนับสนุนการสร้างความเข้มแข็งทางสุขภาพโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน ด้วยกระบวนการ
การจัดการเรียนโดยใช้บริบทเป็นฐาน : Context Based Learning 
โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลนาสะเม็ง อำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร

หลักการและเหตุผล
                   ระบบบริการปฐมภูมิ คือ หัวใจของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ถ้าอ่อนแอ จะทำให้ทั้งระบบไร้ประสิทธิภาพ การจัดการระบบบริการปฐมภูมิให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพ ต้องอาศัยทั้งศาสตร์ด้านการแพทย์ และศาสตร์ทางด้านสังคมจิตวิทยา ที่เหมาะสมกับบริบท ซึ่งผู้นำการจัดการระบบบริการปฐมภูมิ คือ แกนหลักในการขับเคลื่อนระบบ เพื่อพัฒนาบุคลากรที่เป็นผู้นำการจัดการเครือข่ายหน่วยบริการปฐมภูมิ โดยเน้นรูปแบบการเรียนรู้ที่ใช้ในหน่วยบริการปฐมภูมิและเครือข่ายเป็นฐาน            ( Learning at the Workplace) เพื่อเสริมยุทธศาสตร์การปฏิรูประบบสาธารณสุขในประเทศไทย
                   การพัฒนาโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการปฏิรูประบบสาธารณสุขหรือระบบสุขภาพตามนโยบายของรัฐบาล ภายใต้แนวคิด “ ชุมชนเป็นเจ้าของสุขภาวะชุมชน”  ดังนั้น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล จะต้องปรับบทบาทของผู้ให้บริการแบบตั้งรับ หรือชี้นำสุขภาพของประชาชนมาเป็นผู้ให้ข้อมูลและทำหน้าที่เชื่อมประสานภาคส่วนต่าง ๆ ของชุมชนเข้ามาดำเนินงานร่วมกันผลักดันให้เกิดการสร้างสุขภาพให้มากขึ้น ลดภาวการณ์เจ็บป่วย ควบคุมสิ่งแวดล้อมรอบตัวให้เกิดสมดุลแห่งสุขภาพชุมชน ประชาชน ชุมชน ภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและท้องถิ่น มีส่วนร่วมอย่างเข้มแข็งในการดำเนินการพัฒนา ขับเคลื่อนพลังชุมชนร่วมกันอย่างต่อเนื่อง เกิดเป็นระบบสุขภาพสุขภาพชุมชนที่ครอบคลุมถึง ความกินดี พอดีอยู่ดี ความอยู่เย็นเป็นสุขและความมั่นคงในชีวิตได้อย่างยั่งยืนและถือเป็นการดำเนินงานโดยยึดหลักการกระจายอำนาจอย่างแท้จริง และเพื่อให้การพัฒนาระบบสุขภาพชุมชนมีรูปธรรม และมีการพัฒนาด้านการจัดการสุขภาพรูปแบบใหม่ด้วยภูมิปัญญาและการรวมพลังชุมชนในท้องถิ่น เสริมสร้างศักยภาพในการตัดสินใจต่อการจัดการปัญหาที่กระทบต่อสุขภาพของตนเองได้มากขึ้น สนับสนุนการสร้างนวัตกรรมสุขภาพชุมชน โดยผ่านกลไกโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเพื่อสนับสนุนประชาชน ชุมชน คณะกรรมการ รพ.สต.และภาคีเครือข่าย ร่วมใช้พลังความคิดและภูมิปัญญาท้องถิ่นในการส่งเสริมป้องกันและจัดการสุขภาพของประชาชน เอื้อให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลสามารถพัฒนาด้านการบริการรักษาพยาบาลได้อย่างมีคุณภาพ ให้ระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิโดยรวมเกิดประสิทธิภาพ และพัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านสุขภาพแก่ภายในและภายนอกชุมชน 
                  การสร้างสุขภาพในชุมชนโดยใช้กระบวนการเสริมสร้างพลังอำนาจ (Empowerment) เป็นการพัฒนาศักยภาพของชุมชนสู่การพึ่งพาตนเองด้านสุขภาพ โดยที่บุคลากรทางสุขภาพมีบทบาท สำคัญในการสนับสนุนและกระตุ้นให้ชุมชนเกิดการเรียนรู้ มีความตระหนักต่อการแก้ไขปัญหาสุขภาพและมีความมั่นใจว่าจะสามารถดูแลสุขภาพประชาชนในชุมชนโดยชุมชน การสร้างสุขภาพในชุมชน จะนำมาซึ่งการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสมของประชาชน ลดปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพ ลดปัญหาสุขภาพที่ป้องกันได้ ลดการเกิดโรคเรื้อรังต่างๆ และนำไปสู่สังคมสุขภาวะต่อไป

เป้าหมาย
                  ร่วมสร้างชุมชนสุขภาวะที่มีความเข้มแข็ง ประชาชนสามารถจัดการปัญหาและพึ่งพาตนเองด้านสุขภาพ ประชาชนในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี และการพัฒนาภาวะผู้นำด้านส่งเสริมสุขภาพโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน  ส่งเสริมสนับสนุนภาคีเครือข่ายในท้องถิ่นเรียนรู้เรื่องสุขภาพร่วมกับชุมชนและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โรงพยาบาลชุมชนและสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ
วัตถุประสงค์
                   1. เพื่อให้เจ้าหน้าที่และเครือข่ายสุขภาพมีศักยภาพในการจัดการเรียนรู้การดูแลสุขภาพด้วยตนเองของชุมชนเพื่อการส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค
                   2. เพื่อให้ภาคีเครือข่าย มีศักยภาพในการสร้างและพัฒนานวัตกรรมสุขภาพของชุมชน
                   3. สรุปบทเรียนการพัฒนาระบบสุขภาพชุมชนในพื้นที่ รพ.สต.นาสะเม็ง
                   4. เพื่อเสริมสร้างพลังอำนาจให้แกนนำชุมชนสามารถจัดกิจกรรมสร้างสุขภาพในชุมชน โดยชุมชน และเพื่อชุมชน

พื้นที่ดำเนินการ
                   1. โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลนาสะเม็ง
                   2. หมู่ที่ 1,2 บ้านนาสะเม็ง  ตำบลนาสะเม็ง  อำเภอดอนตาล

วิธีดำเนินการ
                   1. ทีม Context Based Learning : CBL  รพ.สต.ร่วมพัฒนาแนวคิดการมีส่วนร่วมของชุมชน
                   2. ดำเนินการทำงานในพื้นที่ตามบริบท รวมทั้งจัดกิจกรรมบริการตามหลักเวชศาสตร์ครอบครัว
                   3. ดำเนินงานเพื่อพัฒนาระบบบริการ ดังนี้
                       3.1  รพ.สต.มีการสำรวจความต้องการพัฒนาตนเองของเจ้าหน้าที่ 
                       3.2 การวางแผนฝึกปฏิบัติงานในโรงพยาบาล โดยกำหนดจุดฝึก จำนวนเจ้าหน้าที่และระยะเวลาฝึก  โดยช่วงแรกจะเน้นเรื่องการรักษาพยาบาล 
                       3.3 การประชุมวิชาการกันเองโดย รพ.สต. และการให้ รพ.สต.ร่วมประชุมวิชาการกับโรงพยาบาล  
                       3.4. การให้คำปรึกษาโดยแพทย์และพยาบาลแก่เจ้าหน้าที่ รพ.สต. ผ่านระบบโทรศัพท์มือถือ  การเรียนรู้ แบบนี้มีข้อตกลงเบื้องต้น คืออ้างอิงทฤษฎีการเรียนรู้แบบผู้ใหญ่ (Adult learning) ให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง เรียนเพื่อทำงาน แรก ๆ โรงพยาบาลจะจัดให้ก่อน ถ้าผู้เรียนประเมินว่าไม่ดี ก็จะปรับให้
                   4. ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้

งบประมาณ
                   สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดมุกดาหาร  ภายใต้โครงการสนับสนุนการสร้างความเข้มแข็งทางสุขภาพโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล  จำนวน 100,000.- บาท   ( หนึ่งแสนบาทถ้วน.-)

ตัวชี้วัดความสำเร็จ
                   1. มีนวัตกรรมสุขภาพชุมชนระดับชุมชนภายใต้การมีส่วนร่วมของประชาชน
                   2. มีกลไกการดำเนินงานพัฒนาระบบสุขภาพชุมชนระหว่างหน่วยงาน ในทุกระดับ
                   3. มีต้นแบบการพัฒนาบุคลากร รพ.สต.โดยใช้ชุมชนเป็นฐานการเรียนรู้


ผลที่คาดว่าจะได้รับ
                   1. เกิดชุมชนเข้มแข็งด้านการพัฒนาการมีส่วนร่วมในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลในการจัดระบบสุขภาพชุมชนที่เป็นรูปธรรมและมีความยุ่งยืน
                   2. การบริการสุขภาพปฐมภูมิภายใต้การนำหลักเวชศาสตร์ครอบครัวมาใช้เป็นที่รู้จักและยอมรับจากประชาชน
                   3. มีต้นแบบการพัฒนาบุคลากร รพ.สต.โดยใช้ชุมชนเป็นฐานการเรียนรู้
     
ผู้เสนอโครงการ

(  นางสมร  แคนติ )
ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลนาสะเม็ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น