healthy@nasameng

วันพฤหัสบดีที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2554

การทำงานชุมชนเชิงรุก

 โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล
:  การทำงานชุมชนเชิงรุก

          การพึ่งตนเองของประชาชน ยังคงเป็นเป้าหมายสำคัญของการทำงานสาธารณสุข ที่นับเนื่องมาจากงานสาธารณสุขมูลฐานที่ผ่านเข้ามาถึงทศวรรษที่ 4   โดยที่ประชาชนจะมีสุขภาพที่ดีได้  ต้องใช้ทั้งเรื่องการสาธารณสุขมูลฐาน และการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ     ซึ่งระบบบริการสุขภาพมีที่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุดได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนปัจจุบันได้มีการพัฒนาเป็น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล     โดยยังมีผลลัพธ์   เรื่องบริการที่สอดคล้องกับความต้องการของชุมชน    การให้ประชาชนสามารถดูแลตนเองได้ และการสร้างคุณภาพชีวิต      โดยยึดชุมชนเป็นฐานในการทำงาน   มีจุดเน้นสำคัญหนึ่งในสามเรื่องคือ  การดำเนินการเชิงรุก   ที่ให้ความหมายมุ่งเข้าหาประชาชนและชุมชนเพื่อการสร้างสุขภาพ เป็นหลักรวมทั้งมุ่งจัดการกับปัจจัยเสี่ยงที่เป็นต้นเหตุของปัญหาสุขภาพ  ซึ่งการสร้างเสริมสุขภาพ หมายถึง กระบวนการสร้างเสริมให้ประชาชนเพิ่มสมรรถนะในการควบคุมสุขภาพ และกำหนดสุขภาพ เพื่อให้มีสุขภาพดีทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ และสังคม (WHO, 1986)

1.  รู้ได้อย่างไรว่า  ทำงานชุมชนเชิงรุก
          การตรวจสอบว่าสิ่งทำเป็นการทำงานเชิงรุกหรือไม่นั้น   พิจารณาจากเห็นเป้าหมายการทำงานชัดเจน     รู้ว่าต้องการให้ชุมชนเป็นอย่างไร      ไม่รอให้ปัญหาเกิดแล้วค่อยดำเนินการ    หรือมีปัญหาเกิดขึ้นได้ลงไปทำที่สาเหตุของปัญหา   และทำให้ปัญหาที่เกิดเป็น ปัญหาของชุมชน     หากเป็นปัญหาสาธารณสุขชุมชนมักกล่าวว่า ปัญหาสาธารณสุขก็ให้หมอแก้ไป ไม่ใช่ปัญหาของชาวบ้าน     การทำงานเชิงรุก ต้องสามารถเข้าไปนั่งในใจกลางปัญหา และกลางใจของผู้คน    ดังกรณีตัวอย่างต่อไปนี้

          ไม่ต้องรอให้สังคมไทยมีแต่ผู้สูงอายุแล้วค่อยจัดบริการ  ยี่สิบปีสังคมไทยจะกลายเป็นโลกของผู้สูงอายุ คือมีผู้สูงอายุมากเกือบถึง 1 ในสี่และจะมีผู้สูงอายุที่อยู่ลำพังมากขึ้น      หากจัดบริการแบบเดิมคือ เห็นผู้สูงอายุเป็นผู้รับบริการที่ต้องลงไปช่วยให้ถึงบ้าน     แต่คิดแบบ เชิงรุก  คือให้ชุมชนร่วมเห็นทางเดินข้างหน้า  เตรียมชุมชนให้พร้อมรับมือโจทย์นี้    ทำอย่างไรจะสามารถดึงพลังผู้สูงอายุมาร่วมออกแบบชุมชนที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ   ทำอย่างไรให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีที่ยาวนานที่สุด  ชุมชนมีการจัดทำห้องน้ำ ทางเดินสำหรับผู้สูงอายุเพื่อลดอุบัติเหตุที่มักเกิดขึ้นบ่อย           เตรียมความพร้อมของคนวัยกลางคนที่จะเข้าสู่การเป็นผู้สูงอายุในวันข้างหน้า  ให้มีสุขภาพกาย ใจ ที่แข็งแรง   มีชุมชนกลุ่มคนที่เกื้อหนุนให้ผู้สูงอายุได้ออกมาแสดงบทบาทตนเอง  เป็นต้น   

           เด็กติดยาเสพติดในชุมชนต้องแก้ที่สาเหตุ     ไม่ใช้แค่การนำเด็กไปรับการบำบัด แต่ต้องชวนชุมชนร่วมวิเคราะห์ถึงสาเหตุและสิ่งแวดล้อมของการติดยาของเยาวชน        อาจพบว่าเด็กในยุคปัจจุบันมี  ความว่าง  ที่เกิดขึ้นในชีวิตตนเอง   ครอบครัวไม่อบอุ่น   เด็กมีเวลาว่างอยู่กับตนเองมากเกินไป     ซึ่งเรื่องเหล่านี้ชุมชนและมีผู้ส่วนได้เสียคือเยาวชน   ต้องรับรู้และเข้ามาเป็นเจ้าของปัญหา  และเข้าไปจัดการฐานครอบครัวและความว่างของเยาวชนโดยการหากิจกรรมที่พัฒนาตัวศักยภาพของเยาวชน   โดยมีผู้ใหญ่ใจดีเป็นผู้สนับสนุน           

          เบาหวาน  ความดันโลหิตสูง ไม่ใช่เพียงแค่บอก วลีเด็ดสำหรับเรื่องอาหาร  ลด  หวาน มัน  เค็ม  และทำกิจกรรมคัดกรองความเสี่ยง     วิถีชีวิตผู้คนและนิเวศวิทยาในสังคมยุคปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว    ในด้านอาหารจากเดิมที่เคยมีแหล่งอาหารในครอบครัวกลายเป็นการซื้อของจากรถพุ่มพวง อาหารถุงสำเร็จรูปที่มีเครื่องปรุงรสและกระติกกาแฟที่มีบริการถึงที่นา     ดังนั้นการใช้วลีดังกล่าวอาจจะไม่สามารถทำให้ครอบครัวหนึ่งมีการปรับพฤติกรรมได้อย่างง่ายนักหากไม่มีตัวช่วย       การทำงานเชิงรุกจึงมีการวิเคราะห์หาทางเลือกใหม่  นอกจากจะให้ครอบครัวหันกลับมาใส่ใจคุณภาพอาหารปลูกผักปลอดสารเพื่อสุขภาพแล้ว  ในบางครอบครัวไม่มีเงือนไข ชุมชนสามารถบริหารให้คนในชุมชนได้บริโภคผักปลอดสารจากการทำของสมาชิกในชุมชน    ยังมีผู้มีส่วนได้เสียเกิดขึ้นคือผู้ทำอาหารในชุมชนลดการใส่ผงชูรส   กลุ่มแม่บ้านไม่ใส่ผงชูรสในงานชุมชน เปลี่ยนมาเป็นผงนัวที่ทำใหรสชาติกลมกล่อมขึ้น     ผู้ขายกาแฟลดน้ำตาลลง     การประชุมที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีนโยบายงดเสริฟอาหารว่างด้วยกาแฟ และโอวัลติน   งานชุมชนงดการเลี้ยงน้ำอัดลม และใช้น้ำสมุนไพรที่มีน้ำตาลน้อยลง       ในศูนย์เด็กเล็กของชุมชนมีการฝึกนิสัยการกินของเด็กรุ่นใหม่เรื่องผัก และลดการกินขนมกรุ๊บกรอบ   มีนโยบายไม่ให้นำขนมถุงมาศูนย์เด็กเล็ก   โรงเรียนมีมาตรการใส่ใจร้านค้าในโรงเรียน  ลดการใช้เครื่องปรุง  ไม่มีการขายน้ำอัดลมในโรงเรียน                

2. เครื่องมือสำคัญของการทำงานเชิงรุกในชุมชน
          มีเครื่องมือสำคัญอยู่ 2  กลุ่มที่นำมาเป็นตัวช่วยในการทำงานเชิงรุกในชุมชน   ชุดแรกเป็นเรื่องของคน   ชุดที่สองเป็นเรื่องเครื่องมือวิธีทำงาน 
คน      สำหรับการทำงานเชิงรุก คนเป็นสิ่งสำคัญที่สุด   การทำงานเชิงรุกจะยากหรือง่ายไม่ได้อยู่ที่งานหรือการปฏิบัติแต่อยู่ที่ใจและวิธีคิด     คนที่พูดและนึกถึงปัญหาในการทำงานอยู่เสมอ  ไม่มีทางที่จะทำงานเชิงรุกได้เลย  ส่วนคนที่นึกถึงความสำเร็จก็มักจะไม่กลัวปัญหาใดๆ ที่เกิดขึ้นเพราะปัญหามีไว้เพื่อแก้นำไปสู่ความสำเร็จ    เทคนิคการทำงานเชิงรุก Proactive สร้างพลังขับเคลื่อนให้กับการทำงาน เพื่อผลงานที่ดีและมีประสิทธิภาพ โดย อาภรณ์ ภู่วิทยพันธุ์ :   ในส่วนทัศนคติหรือมุมมองของคนที่ทำงานในเชิงรุก  มีคำสำคัญดังนี้   
·    ศรัทธาในตนเอง
·    คิดจะเป็นผู้ให้ มากกว่าผู้รับ
·    มองโลกในทางบวก
·    วันพรุ่งนี้ ย่อมดีกว่า วันนี้
·    โอกาสแสวงหาได้จากตัวเรา   วิกฤติคือโอกาส
·    มองความผิดพลาดเป็นบทเรียน
·    กล้าและพร้อมเผชิญกับปัญหา
·    ความรู้ ความสามารถย่อมฝึกกันได้
·    แผนงานที่ดีมีชัยไปกว่าครึ่ง
·    ทุกคนย่อมมีความรู้ ความสามารถ
·    ผู้บริหารเวลาที่ดีที่สุดคือเรา
·    จงรักผู้อื่นเหมือนรักตนเอง
·    จงเปลี่ยนศัตรูให้เป็นมิตร
·    อนาคตเป็นสิ่งที่เราสร้างได้
·    พร้อมเสมอสำหรับการเปลี่ยนแปลง
          นอกจากเตรียมตนเองเพื่อการทำงานเชิงรุกแล้ว  การทำงานชุมชนเชิงรุกที่เกี่ยวข้องกับผู้คน    การปรับบทบาทของเจ้าหน้าที่จากผู้ให้ มาเป็นผู้สนับสนุน  ผู้เอื้ออำนวยให้ชุมชนมองเห็นศักยภาพตนเอง   ยังเป็นเรื่องการเข้าใจตนเองและชุมชนอย่างลึกซึ้ง   

เทคนิค เครื่องมือ และโอกาส ที่มีอยู่ในมือ            การเป็นคนทำงานชุมชนเชิงรุกท่ามกลางกระแสที่มีเครื่องมือลงมาสู่พื้นที่หลากหลาย   สิ่งสำคัญคือ   การทำความเข้าใจถึงแก่นหรือหัวใจและประโยชน์ของเครื่องมือนั้นมาเชื่อมและใช้อย่างต่อเนื่องจากเรื่องราวเดิม  มิใช่เป็นเพียงเอาเทคนิคมาเป็นเครื่องมือชิ้นใหม่    
PCA  เป็นเครื่องมือช่วยกระตุ้นให้เกิดการประเมินตนเอง  โดยการทบทวน  ตรวจสอบ  และประเมิน 
แผนที่ทางเดินยุทธศาสตร์     เห็นเป้าหมายการทำงานในระยะที่เป็นไปได้ร่วมกันของคนที่เกี่ยวข้อง  สร้างการมีส่วนร่วมและรู้ว่าแต่ละคนมีบทบาทในจุดไหน   เชื่อมโยงและส่งผลสำเร็จต่อเป้าหมายนั้นได้อย่างไร   สามารถเชื่อมโยงยุทธศาสตร์กับการปฏิบัติงานได้อย่างต่อเนื่อง  และที่สำคัญเป็นการเปลี่ยนวิธีคิด  ให้เริ่มคิดจากต้องการตอบสนองปัญหาของคนในชุมชน  โดยวางบทบาทให้ประชาชนเป็นผู้กำหนดการแสดงบทบาทของตนเองในด้านสุขภาพ 
สมัชชาสุขภาพตำบล  เป็นเครื่องมือที่ต้องการให้มีการสร้างความรู้และ ความเข้าใจ จากการใช้ข้อมูล ความจริง   ทำให้ระบบสุขภาพเป็นวาระของชุมชน   เกิดการกำหนดนโยบายสาธารณะ จาก 4 ภาคส่วน  และมีการทำแผนอย่างเป็นระบบ
กระบวนการสร้างการเรียนรู้ร่วมกันในกลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุข    โอกาสสำคัญของเจ้าหน้าที่ในยุคนี้ คือ อสม. มีการพบปะพูดคุยกันทุกเดือนอย่างต่อเนื่อง   หากสร้างเวทีดังกล่าวให้เป็นเวทีเรียนรู้  พูดคุย  นำความจริงในชุมชนมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  จะทำให้เป็นการเพิ่มศักยภาพอย่างยั่งยืน    มิใช่เพียงแค่นำรายงานมาส่ง   แจ้งวาระการประชุม และเรื่องจากการประชุมาภายนอก     ที่มิได้ทำให้เห็นว่าการมาแต่ละครั้งของ อสม. จะมาคุยเรื่องราวของคนในชุมชนตนเอง 

          การทำงานชุมชนเชิงรุกที่ปลุกไฟในตัวผู้คน  ให้ลุกขึ้นมาเป็นเจ้าของปัญหาและเกิดปัญญา  แม้จะใช้เวลาเดินทางที่ยาวไกลแต่ไม่เหนื่อยเปล่า    หากกระบวนการเรียนรู้ของทุกฝ่ายได้เกิดขึ้นจริง  ปัญญาจะเป็นเครื่องนำทางแม้จะมีปัญหาใหม่เกิดเข้ามาในชุมชน  ชุมชนจะมีศักยภาพและอำนาจในการจัดการสุขภาพด้วยตนเอง  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น